โครงการสร้างสถานพำนักพักฟื้นพระสงฆ์อาพาธ
เฉลิมพระเกียรติ ๕๐ พรรษา มหาวชิราลงกรณ
(โครงการส่วนที่  ๒)
 
๑. หลักการและเหตุผล

      ด้วยสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร ทรงห่วงใยสุขภาพของพระภิกษุ สามเณร จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ รับโครงการก่อสร้างโรงพยาบาลสงฆ์ เป็นโครงการเฉลิมพระเกียรติ ในมหามงคลเฉลิมพระชนม ๕๐ พรรษา ในปีพุทธศักราช ๒๕๔๕ พร้อมทั้งพระราชทานนามโรงพยาบาลนี้ว่า “โรงพยาบาล ๕๐ พรรษา มหาวชิราลงกรณ” และได้เสด็จฯพร้อมด้วย พระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าพัชรกิติยาภา ไปทรงวางศิลาฤกษ์โรงพยาบาลแห่งนี้ ณ บ้านปลาดุก หมู่ ๓ ตำบลไร่น้อย อำเภอเมือง จังหวัดอุบลราชธานี เมื่อวันที่ ๒๓ พฤษภาคม ๒๕๔๕
      โรงพยาบาล ๕๐ พรรษา มหาวชิราลงกรณ  จัดสร้างขึ้นเพื่อให้บริการด้านการแพทย์ การรักษา การพยาบาล และการฟื้นฟูสมรรถภาพแก่ผู้ป่วยที่เป็นพระภิกษุ  สามเณร ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ  ๑๙ จังหวัด ซึ่งเป็นพระสงฆ์ส่วนใหญ่ของประเทศ และรวมถึงประเทศเพื่อนบ้าน เช่น ลาว กัมพูชา และเวียดนาม และให้บริการประชาชนในเขตพื้นที่รับผิดชอบ ความเจ็บป่วย และอุบัติเหตุ เป็นเรื่องที่ไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ ดังนั้น เมื่อพระภิกษุ สามเณร เกิดอาพาธ จำเป็นต้องเข้ารับการบำบัดรักษาที่โรงพยาบาล ซึ่งในการรักษาผู้ป่วย (พระสงฆ์) จะต้องใช้วิธีการรักษาทั้งทางด้านการแพทย์ พร้อมกับการใช้วัฒนธรรมไทยในทางพุทธศาสนาเข้ามาช่วยในการรักษาด้านจิตใจด้วย พระภิกษุ สามเณร เมื่อเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องประกอบกิจทางพระพุทธศาสนาควบคู่ไปกับการรักษาทางการแพทย์
      จากประเด็นที่สำคัญดังกล่าวมูลนิธิโรงพยาบาล  ๕๐ พรรษา มหาวชิราลงกรณ  และจังหวัดอุบลราชธานี  ได้ตระหนักและเล็งเห็นความสำคัญของพระสงฆ์ซึ่งเป็นผู้แทนของพระพุทธศาสนาจึงร่วมกันจัดทำโครงการสร้างสถานพำนักพักฟื้นพระสงฆ์อาพาธ เฉลิมพระเกียรติ ๕๐ พรรษา มหาวชิราลงกรณขึ้น บนพื้นที่โรงพยาบาล ๕๐ พรรษา มหาวชิราลงกรณ ณ บ้านปลาดุก หมู่ ๓ ตำบลไร่น้อย อำเภอเมือง จังหวัดอุบลราชธานี เพื่อเป็นสถานที่ประกอบกิจกรรมของพระภิกษุ สามเณร ขณะอาพาธ และประชาชนขณะเจ็บป่วย เพื่อเป็นที่ยึดเหนี่ยวทางด้านจิตใจ 
 
๒. วัตถุประสงค์
      ๑. เพื่อเป็นการเฉลิมพระเกียรติ  สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ  สยามมกุฎราชกุมาร มีพระชนมายุครบ ๕๐ พรรษา
      ๒. เพื่อเป็นสถานที่พำนักให้การดูแลก่อนและหลังการรักษาเพื่อพักฟื้นของพระภิกษุ  สามเณร ด้วยการดูแลแบบองค์รวม
      ๓. เพื่อเป็นสถานธรรมศึกษาของพระภิกษุ สามเณร และประชาชนทั่วไป
      ๔. เพื่อเป็นสถานที่ให้คำปรึกษาและอบรมทางด้านจิตใจของผู้ป่วยและประชาชน
      ๕. เพื่อเป็นสถานที่ประกอบกิจกรรมของพระภิกษุ สามเณร ด้านวิปัสสนากัมมัฏฐาน  ขณะอาพาธ
      ๖. เพื่อเป็นต้นแบบของการรักษาผู้ป่วยแบบครบวงจร  ทั้งทางร่างกายและจิตใจ
 
๓. หน่วยงานที่รับผิดชอบ
      ๑. มูลนิธิโรงพยาบาล ๕๐ พรรษา มหาวชิราลงกรณ
      ๒. จังหวัดอุบลราชธานี
      ๓. กระทรวงสาธารณสุข
      ๔. อำเภอเมืองอุบลราชธานี
      ๕. องค์การบริหารส่วนตำบลไร่น้อย
 
๔. เป้าหมายของโครงการ
      เป็นโครงการ / กิจกรรมเฉลิมพระเกียรติ สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร เนื่องในวโรกาสมีพระชนมายุครบ ๕๐ พรรษา 
 
๕. การดำเนินงาน 

      ๑. จัดสร้างสถานพำนักพักฟื้นพระสงฆ์อาพาธ  เฉลิมพระเกียรติ  ๕๐  พรรษา  มหาวชิราลงกรณ  บนพื้นที่         โรงพยาบาล ๕๐ พรรษา มหาวชิราลงกรณ  ณ บ้านปลาดุก หมู่ ๓ ตำบลไร่น้อย  อำเภอเมือง จังหวัดอุบลราชธานี จำนวน ๓๔ ไร่ ใช้งบประมาณในการดำเนินการก่อสร้างประมาณ  ๖๐,๐๐๐,๐๐๐.๐๐ บาท  ซึ่งประกอบด้วย
            ๑.๑  อาคารพักฟื้นพระสงฆ์อาพาธ (อาคารชั้นเดียว) จำนวน ๒  หลัง
            ๑.๒  ศาลาสวดอภิธรรม (ศาลาประธาน) 
            ๑.๓  ศาลาสวดอภิธรรม (ศาลาประกอบ)
            ๑.๔  ศาลาอเนกประสงค์
            ๑.๕  อุโบสถ ๒ ชั้น
            ๑.๖  กุฏิเดี่ยว (กุฏิปฏิบัติธรรม)
            ๑.๗  กุฏิรวม (อาคาร ๒ ชั้น)
            ๑.๘  โรงเลี้ยง  โรงครัว 
            ๑.๙  อาคารน้ำ-ส้วม 
            ๑.๑๐ เมรุ
            ๑.๑๑ สถานที่จอดรถ
 
      ๒. อัญเชิญพระพุทธนิรโรคันตรายชัยวัฒน์จตุรทิศ  โดยพระบรมราชานุญาต พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพล อดุลยเดช ให้มูลนิธิโรงพยาบาล ๕๐ พรรษา มหาวชิราลงกรณ ดำเนินการจัดสร้างขนาดหน้าตัก ๓๒ นิ้ว สูง ๖๒ นิ้ว มาเป็นพระประธานประจำสถานพำนักพักฟื้นพระสงฆ์อาพาธ เฉลิมพระเกียรติ ๕๐ พรรษา มหาวชิราลงกรณ โดยได้รับพระราชทานพระบรมราชานุญาตให้อัญเชิญอักษรพระปรมาภิไธยย่อ ภ.ป.ร. ประดิษฐานที่ผ้าทิพย์ด้านหน้าพระพุทธรูป  และในการนี้ สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร พร้อมด้วย พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าศรีรัศมิ์ พระวรชายาในสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร เสด็จฯทรงเททองและประกอบพิธีมหาพุทธาภิเษก
 
      ๓. ให้คำปรึกษาและการอบรมทางจิตใจ
            โดยใช้ทั้งหลักจิตวิทยาคลินิกและหลักพุทธศาสนาเพื่อบำบัดและดูแลทางด้านจิตใจแก่ผู้ป่วยโดยใช้
กิจกรรมหลัก ๕ ประการ คือ
            ๓.๑ การออกกำลังกายที่เหมาะสม
            ระหว่างการรักษาผู้ป่วยจำเป็นต้องมีการออกกำลังกายและการบริหารกายควบคู่ไปด้วยภายหลังการผ่าตัดต้องมีการบริหารร่างกายตามหลักวิชาการที่เหมาะสมเพื่อช่วยให้กล้ามเนื้อบริเวณที่ถูกตัดออกมีความยืดหยุ่น และหลังจากการรักษาแล้ว ยังคงต้องมีการปฏิบัติต่อไปอย่างสม่ำเสมอ ประโยชน์ที่ชัดเจนของการออกกำลังกายที่มีต่อสภาพทางจิตใจก็คือ ช่วยเพิ่มความสดชื่นของจิตใจ ลดการเซื่องซึมและความคิดฟุ้งซ่าน นอกจากนั้น การออกกำลังกายที่กระทำร่วมกันเป็นกลุ่มสามารถทำให้ผู้ป่วยได้รับความเพลิดเพลินสนุกสนาน และช่วยให้ผู้ป่วยใหม่หรือผู้ป่วยที่ค่อนข้างเก็บตัวมีโอกาสจะได้พูดคุยกับเพื่อนผู้ป่วยไปในตัวด้วย
            ๓.๒ การผ่อนคลายตามหลักจิตวิทยาคลินิก
            ตามหลักจิตวิทยาเชื่อว่า ภาวะความตึงเครียดของจิตใจมีผลต่อการเจริญเติบโตของเซลล์มะเร็ง เราจึงนำกระบวนการทางจิตวิทยาเข้ามาใช้ลด  หรือยับยั้งการเจริญเติบโตของเซลล์มะเร็ง  จากผลของการทดลองในต่างประเทศ ผู้ป่วยที่ใช้เทคนิคการผ่อนคลายช่วยลดภาวะความเจ็บปวด  และช่วยให้ชีวิตที่เหลืออยู่อย่างมีคุณภาพ นอกจากนั้น การประคับประคองด้านจิตใจยังช่วยให้ผู้ป่วยสามารถเผชิญหน้ากับปัญหาที่เกี่ยวข้องกับการเจ็บปวด อีกทั้งลดความเครียดได้ด้วย
            ๓.๓ การสั่งต่อจิตใต้สำนึก (การสะกดจิต)
            มีจุดมุ่งหมายเพื่อสร้างความเชื่อมั่นในตนเองให้เกิดขึ้นแก่ผู้ป่วย ให้ผู้ป่วยรู้จักวิธีการพัฒนาความเชื่อมั่นในตนเองให้อยู่ในระดับที่สูงขึ้น และรักษาความเชื่อมั่นนั้นไว้ ให้รู้จักวิธีควบคุมจิตใต้สำนึกของผู้ป่วยเอง สามารถนำพลังของ
จิตใต้สำนึกที่ซ่อนอยู่มาใช้ให้เกิดประโยชน์  พร้อมทั้งรู้ถึงวิธีการสร้างสมดุลให้เกิดขึ้นระหว่างร่างกายและจิตใจ อันจะส่งผลทำให้สุขภาพร่างกายและจิตใจแข็งแรงมีชีวิตเต็มไปด้วยความสุขตามสมควร แก่อัตภาพในทุกสถานการณ์
            ๓.๔ การปฏิบัติธรรม
            เนื่องจากเราเป็นพุทธศาสนิกชน  แก่นธรรมของพระพุทธศาสนาคือ การละความชั่วการทำความดี และการชำระจิตใจให้บริสุทธิ์ ในบรรดาศาสนาต่าง ๆ ทั้งที่เกิดขึ้นก่อนพระพุทธศาสนาและที่เกิดมาภายหลัง ต่างก็มีหลักการสอนให้
ละความชั่วและให้ทำความดีเป็นประการสำคัญทั้งสิ้น แต่ไม่มีศาสนาใดที่สอนถึงวิธีชำระจิตใจให้บริสุทธิ์  ซึ่งเป็นวิธีที่มีอยู่แต่ในพระพุทธศาสนาเท่านั้น
            ทางโครงการฯ จึงได้นำคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าหรือวิธีที่จะทำให้ทุกข์ดับโดยสิ้นเชิง หรือวิธีชำระใจให้บริสุทธิ์ซึ่งเรียกว่า การเจริญวิปัสสนากัมมัฏฐาน หรือ การปฏิบัติธรรม ซึ่งเป็นทางเดียวเท่านั้น ที่จะทำให้ผู้ปฏิบัติรู้แจ้ง ในธรรมวิเศษของพระพุทธเจ้า มาสอนให้ผู้ป่วยละทางโลกเพื่อหาความสงบทางใจ นำตัวเข้าไปถึงแก่นธรรมของพุทธศาสนา
            ๓.๕ การบำบัดโดยใช้กระบวนการกลุ่ม (Group Therapy)
            มีจุดมุ่งหมายที่อาศัยกระบวนการกลุ่มเป็นเครื่องมือในการพัฒนาผู้ป่วยโดยมีจิตแพทย์ พยาบาล และคณะกรรมการโครงการฯ  เป็นผู้ดำเนินการกลุ่ม  โดยแบ่งกิจกรรมดังนี้
            (๑) กลุ่มแก้ไขปัญหาผู้ป่วย  เช่น สร้างความสัมพันธ์ระหว่างผู้ป่วยด้วยกัน  เปิดโอกาสให้ผู้ป่วยซักถามปัญหาต่าง  ๆ เพื่อให้ผู้ป่วยมีกำลังใจและคลายความวิตกกังวล
            (๒) กลุ่มสันทนาการ  เช่น การจัดให้มีการร้องเพลง  เล่มเกม และทัศนศึกษานอกสถานที่  เพื่อเป็นการผ่อนคลายความตึงเครียด
            (๓) กลุ่มประดิษฐ์เศษวัสดุ  เช่น ประดิษฐ์ ส.ค.ส. วันปีใหม่  เพื่อให้ผู้ป่วยได้ใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์
 
      ๔. เป็นศูนย์ค้นคว้าวิจัย
            โดยการนำผลการใช้แนวทางการทำสมาธิทางพุทธศาสนา  ประกอบกับการรักษาทางการแพทย์เป็นแห่งแรกในประเทศไทย  
 
๖. ระยะเวลาดำเนินการ
      ใช้เวลา ๓ ปี (๒๕๔๘-๒๕๕๐)
 
๗. พื้นที่ดำเนินการ
      โรงพยาบาล ๕๐ พรรษา มหาวชิราลงกรณ  บ้านปลาดุก หมู่ ๓ ตำบลไร่น้อย  อำเภอเมือง จังหวัดอุบลราชธานี ๓๔๐๐๐ ในเนื้อที่ ๓๔ ไร่
 
๘. งบประมาณ
         1. มูลนิธิโรงพยาบาล ๕๐ พรรษา มหาวชิราลงกรณ
         2. เงินบริจาค
 
๙. ประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับ
      ๑. เป็นสถานที่ปฏิบัติธรรมของพระภิกษุ สามเณร และประชาชนทั่วไป
      ๒. เป็นที่ยึดเหนี่ยวทางด้านจิตใจของผู้ป่วยและประชาชน
      ๓. เป็นสถานที่ดูแลผู้ป่วยก่อนและหลังการรักษา
      ๔. เป็นต้นแบบของการรักษาและการดูแลผู้ป่วยแบบองค์รวม (จิต อารมณ์ สังคม และจิตวิญญาณ)
      ๕. เป็นสถานที่ให้คำปรึกษาและอบรมทางด้านจิตใจของผู้ป่วยและประชาชน
 
               
                                                 

 




สมัครรับข่าวสาร สุขภาพกับโรงพยาบาล มหาวชิราลงกรณ update กิจกรรมดีๆ เกี่ยวกับสุขภาพมากมาย
อีเมล:
รับข่าวสาร
ยกเลิก

Valid XHTML 1.0 Transitional

มูลนิธิโรงพยาบาล ๕๐ พรรษา มหาวชิราลงกรณ
1648 อาคารมหาเจษฎาบดินทร์ วัดยานนาวา ถ.เจริญกรุง ข.สาธร กทม. 10120
โทร.0-2673-9940-3 ,โทรสาร.0-2673-9941, อีเมล์:info50amfh.org@gmail.com
© All rights reserved. Floral Design. 2009
จำนวนผู้เข้าชม